SDGs คืออะไร เปลี่ยนแปลงโลกด้วย SDGs! ฉบับสำหรับเด็ก ญี่ปุ่น

▼คุณสามารถดูข้อมูลในแต่ละภาษาได้!

คุณเคยได้ยินเกี่ยวกับ SDGs หรือไม่

“SDGs” ย่อมาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในปี 2015 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติยอมรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการที่จะต้องบรรลุผลสำเร็จภายในปี 2030

SDGs นั้นถูกกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของการตระหนักรู้ถึงภาวะวิกฤตที่รุนแรง ได้แก่ ผู้คนยากจนกำลังถูกลืม สิ่งแวดล้อมทั่วโลกกำลังแย่ลง และหากเรายังคงนิ่งเฉย โลกก็จะล่มสลายลงไปในที่สุด

Kids school character picks

“ยั่งยืน” หมายถึง สิ่งที่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป

SDGs มุ่งหวังที่จะสร้างวิถีชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสำหรับอนาคต

สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการที่ผู้นำประเทศต่างๆ นั้นสามารถทำงานร่วมมือกับผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายเหล่านี้

แต่พวกเราก็จำเป็นต้องไตร่ตรองและพูดคุยเกี่ยวกับ SDGs พร้อมแนวทางการดำเนินชีวิตในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและโลกด้วยเช่นกัน เรามาดูเป้าหมายหลัก 17 ประการกัน ว่ามีอะไรบ้าง

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน / SDGs

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน / SDG

เป้าหมายที่ 1: การขจัดความยากจน

เป้าหมายที่ 1: การขจัดความยากจน

เป้าหมาย คือการขจัดความยากจนทุกรูปแบบทั่วโลก

ขั้นแรกคือการแก้ปัญหาความยากจน ที่ผู้คนได้รับอาหารไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

นอกเหนือจากอาหารและน้ำ เป้าหมายนี้ยังรวมถึงการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าทุก ๆ คนมีงานทำและมีที่อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงสิทธิ์การรักษาในโรงพยาบาล และมีโอกาสในการได้แสดงความคิดเห็น หรือได้แสดงทักษะความสามารถของตนเอง

ผู้คนกว่า 783 ล้านคนทั่วโลกดำรงชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน

เป้าหมายที่ 2 : การขจัดความหิวโหย

เป้าหมายที่ 2 : การขจัดความหิวโหย

ความอดอยาก คือ สภาวะของภาวะทุพโภชนาการที่มักเกิดขึ้นจากการที่เราไม่ได้กินอาหารอย่างเหมาะสมเป็นระยะเวลานาน เป้าหมายนี้จึงเป็นการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าทุก ๆ คน ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ได้กินอาหารในปริมาณที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม

เป้าหมาย คือการรักษาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายของพืชผล (ความหลากหลาย หมายถึง การมีสิ่ง
ต่าง ๆ มากมายที่สามารถใช้ประโยชน์ได้) ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการผลิตอาหารที่ยั่งยืนด้วย

มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวนมากถึง 3.1 ล้านคนเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการทุกปี

เป้าหมายที่ 3 : การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เป้าหมายที่ 3 : การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เป้าหมายคือการทำให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

ผู้หญิงควรมีลูกได้อย่างปลอดภัย และควรมียาหรือวัคซีนพร้อมสำหรับทุกคน

เป้าหมายนี้ยังรวมถึงการลดการบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และการปนเปื้อนในอากาศ น้ำ และดิน

จุดมุ่งหมาย คือการช่วยชีวิตผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยยาและวัคซีนที่ครบครัน

เป้าหมายที่ 4 : การศึกษาที่มีคุณภาพ

เป้าหมายที่ 4 : การศึกษาที่มีคุณภาพ

เป้าหมาย คือการให้การศึกษาที่ดีแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม พร้อมมอบโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การจัดหาโรงเรียนที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการเพิ่มจำนวนครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้

สิ่งสำคัญคือการศึกษาอย่างต่อเนื่องที่ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและภัยพิบัติก็ตาม

เด็กชั้นประถมศึกษาจำนวนมากถึง 57 ล้านคนไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน ลองคิดดูว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้

เป้าหมายที่ 5 : ความเท่าเทียมทางเพศ

เป้าหมายที่ 5 : ความเท่าเทียมทางเพศ

เป้าหมายคือการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิงให้หมดไป

วิธีการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง ได้แก่ การป้องกันอันตรายต่อผู้หญิงทั้งทางร่างกาย ทางอารมณ์และจิตใจ รวมไปถึงทางเพศ การให้คุณค่ากับการทำงานที่บ้าน การคุ้มครองสิทธิสตรีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และอื่น ๆ

ผู้หญิงที่ทำงานในภาครัฐในหลาย ๆ ประเทศนั้นมีจำนวนน้อยมาก เรามาช่วยกันส่งเสริมผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชายด้วยวิธีต่าง ๆ มากมายกันเถอะ

เป้าหมายที่ 6 : การจัดการน้ำสะอาดและสุขาภิบาล

เป้าหมายที่ 6 : การจัดการน้ำสะอาดและสุขาภิบาล

เป้าหมายคือการทำให้ทุกคนมีน้ำสะอาดและสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพผ่านการจัดการด้านสุขอนามัยที่เหมาะสม

ซึ่งทำให้มีการจัดการน้ำและการกำจัดขยะที่ดีสำหรับทุกคน และขั้นตอนการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ผู้คนมากมายยังต้องตักน้ำจากบ่อน้ำมาใช้ และมีเด็กจำนวนมากเสียชีวิตจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด

เป้าหมายที่ 7 : พลังงานสะอาดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

เป้าหมายที่ 7 : พลังงานสะอาดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

เป้าหมายคือการจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้และราคาไม่แพงให้แก่ทุกคน ไม่ใช่แค่พลังงานจากไม้หรือถ่านหินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพลังงานจากแหล่งไฟฟ้าหรือก๊าซใหม่ ๆ ด้วย

การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดนั้นจะช่วยทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น (เช่น แสงแดด ลม แม่น้ำที่ไหล และกระแสน้ำในมหาสมุทร) และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานถือเป็นกุญแจสำคัญ

ลองคิดดูว่าพลังงานประเภทใดที่ดีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายที่ 8 : การจ้างงานที่มีคุณค่าและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายที่ 8 : การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การจ้างงานที่มีคุณค่าหมายถึงทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับโอกาสในการทำงานที่สามารถจะตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ได้ ซึ่งงานดังกล่าวนั้นควรเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย

เป้าหมายคือการยุติการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจและร่างกายของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกบังคับให้ทำงาน

การดำเนินชีวิตนั้นจะยากลำบากมากหากไม่มีงานทำ คงจะดีหากบริษัทต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของผู้คนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เป้าหมายที่ 9 : อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน

เป้าหมายที่ 9 : อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน

โครงสร้างพื้นฐาน หมายถึง อาคาร การคมนาคม บริการ และอื่น ๆ ที่ผู้คนต้องการในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเพิ่มเติม ได้แก่ น้ำประปา ทางรถไฟ แก๊ส ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ต

เป้าหมาย คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อภัยพิบัติได้ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม และง่ายต่อการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ

คุณคิดว่าผู้นำประเทศหรือผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ ควรดำเนินการอย่างไรเพื่อสิ่งแวดล้อมและคนทำงาน

เป้าหมายที่ 10 : การลดความเหลื่อมล้ำ

เป้าหมายที่ 10 : การลดความเหลื่อมล้ำ

เป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำหรือความแตกต่างระหว่างประเทศและภายในประเทศ การขจัดความเหลื่อมล้ำนั้นทำได้โดยการเพิ่มรายได้ของคนยากจน รวมถึงการยกเลิกกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติต่อผู้คนบางกลุ่ม

ไม่มีใครชอบการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมหรือการถูกเลือกปฏิบัติ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมปล่อยให้ผู้คนที่หลากหลายได้มีส่วนร่วมการดำเนินการ

เป้าหมายที่ 11 : เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 11 : เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

เป้าหมายคือการสร้างเมืองและชุมชนที่ทุกคนได้ใช้ชีวิตในที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยสามารถเข้าถึงน้ำ ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอื่น ๆ ที่จำเป็นได้ ชุมชนต่าง ๆ จะต้องมีความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติได้ดี

และต้องคอยตรวจสอบการจัดการด้านมลพิษทางอากาศและขยะสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็จัดหาการบริการที่สามารถอำนวยความสะดวกปลอดภัยสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้คนกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ลองคิดดูว่าเราจะทำให้สถานที่ที่ผู้คนอาศัยอยู่นั้นมีความปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับทุกคนได้อย่างไร

เป้าหมายที่ 12 : การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ

เป้าหมายที่ 12 : การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ

เป้าหมาย คือการทำให้แน่ใจว่าการนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้นั้นต้องไม่สูญเปล่า

วิธีการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ได้แก่ การลดขยะจากอาหารลงครึ่งหนึ่งทั่วโลก การตรวจสอบสารเคมีอันตรายที่ถูกปล่อยออกมาในระหว่างการผลิตสิ่งต่าง ๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนในน้ำ อากาศ และดิน และการนำแนวคิด 3R (ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)) มาใช้เพื่อลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด

คุณคิดว่าผู้คนควรทำอย่างไรเพื่อยับยั้งการสูญเสียอาหาร น้ำ พลังงาน และทรัพยากรอื่น ๆ โดยเปล่าประโยชน์

เป้าหมายที่ 13 : การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมายที่ 13 : การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นเนื่องจากการที่มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และสารอื่น ๆ ทำให้โลกร้อนขึ้นและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป

ประเด็นสำคัญคือการดำเนินการในปัจจุบันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าว

เรามาช่วยกันคิดหาวิธีการยับยั้งการปล่อย CO2 กันเถอะ

เป้าหมายที่ 14 : การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล

เป้าหมายที่ 14 : การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล

มลพิษในมหาสมุทรส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้คนทำบนบก

เป้าหมายคือการลดมลภาวะในมหาสมุทร การยุติการทำประมงผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และการทำให้แน่ใจว่าการใช้ทรัพยากรทางทะเลนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน

มหาสมุทรเต็มไปด้วยขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและมีผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเป็นอย่างมาก

เป้าหมายที่ 15 : การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก

เป้าหมายที่ 15 : การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

การปกป้องป่าไม้และการหยุดการขยายตัวของทะเลทรายมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก (กล่าวคือ สัตว์และสิ่งแวดล้อมที่สัตว์อาศัยอยู่) รวมถึงการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบกด้วยวิธีการที่ยั่งยืน

สัตว์หลายสายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ต้องได้รับการคุ้มครอง และต้องป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสีย
ความหลากหลายทางชีวภาพ

ลองคิดดูว่าเราจะป้องกันไม่ให้จำนวนพืชและสัตว์ลดลงได้อย่างไร

เป้าหมายที่ 16 : สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

เป้าหมายที่ 16 : สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

เป้าหมาย คือการสร้างสังคมที่สงบสุขและไม่แบ่งแยก ซึ่งทุกคนควรจะต้องมีสิทธิ์เข้าถึงและได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย (ศาลและกระบวนการทางกฎหมาย) และการทำให้แน่ใจว่าสถาบันต่าง ๆ นั้นมีประสิทธิภาพในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก

ทุกคนควรได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่สงบสุข ปลอดภัย และยุติธรรม

เป้าหมายที่ 17 : ความร่วมมือเพื่อเป้าหมาย

เป้าหมายที่ 17 : ความร่วมมือเพื่อเป้าหมาย

เป้าหมาย คือการทำให้แน่ใจว่าทุกประเทศสามารถทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ 1 ถึง 16

SDGs ต้องรวมอยู่ในแผนระดับชาติ อีกทั้งยังต้องดำเนินการในขั้นตอนที่ใหญ่กว่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วย

แต่ละประเทศจำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการบริหารจัดการด้านเงินทุนที่จะต้องใช้ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้นๆ

ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในการลงทุนลงแรงต่าง ๆ ได้

มาร่วมกันทำภารกิจ SDGs : เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มาร่วมกันทำให้สำเร็จกันเถอะ  ลองคิดว่าตัวคุณเองสามารถทำอะไรได้บ้าง!

หมายเหตุ: หน้าเว็บ “SDGs คืออะไร” ของ Panasonic Kids School นั้นสร้างขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากคุณโทชิโอะ เทจิมะ รองประธานสมาคมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) แห่งญี่ปุ่น และอ้างอิงถึงหน้าเว็บที่อธิบายเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในศูนย์ข้อมูลแห่งสหประชาชาติและเว็บไซต์ของมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (Save the Children)